วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

รายงานภาวะเศรษฐกิจจังหวัดกระบี่ ประจำเดือนกันยายน 2554

     โครงสร้างหลักทางเศรษฐกิจกระบี่ พิจารณาจาก GPP ณ ราคาคงที่เฉลี่ย 5 ปี ย้อนหลัง (2548-2552) ขึ้นอยู่กับภาคเกษตร (สาขาเกษตร) สาขาการขายส่ง การขายปลีก สาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาอุตสาหกรรม ตามลำดับ
     เศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดกระบี่ เดือนกันยายน 2554 ขยายตัว ตามภาคเศรษฐกิจหลักของจังหวัด พิจารณาจากด้านอุปทาน ภาคการเกษตรขยายตัวโดยในเดือนนี้ยางพารา และปาล์มน้ำมันมีปริมาณออกสู่ตลาดเพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันระดับราคาก็ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความต้องการยังคงมีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระดับราคา คือ ความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมทั้งเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของจีน สำหรับกุ้งขาวแวนนาไมท์ มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคมปรับตัวลดลงจากเดือนที่ผ่านมา ส่วนภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการเกษตร เช่น อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ นอกจากนี้ภาคบริการและการท่องเที่ยว ขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากยังมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศส่วนใหญ่มาจากประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลียตามลำดับ
     ด้านอุปสงค์ ด้านการเงินยังคงขยายตัวทั้งด้านปริมาณเงินฝากและสินเชื่อ เป็นผลจากรายได้ของเกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ดีตามราคายางพาราและปาล์มน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐทำให้ความต้องการเงินทุนหมุนเวียน และสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้นตามรายได้ภาคเกษตรและการท่องเที่ยว ส่งผลให้มีการใช้จ่ายในสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ภาคการลงทุนก็ยังคงขยายตัว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเช่น เกาะลันตา และอ่าวนาง ส่วนใหญ่เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว โดยนิติบุคคลจดทะเบียนใหม่ที่สำคัญ คือ ตัวแทนธุรกิจการท่องเที่ยว ภัตตาคาร ร้านขายอาหาร โรงแรมและการก่อสร้างอาคารทั่วไป เป็นต้น ในส่วนของสถานการณ์แรงงาน ผู้ประกอบการณ์มีความต้องการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ตำแหน่งที่นายจ้างต้องการมากที่สุดได้แก่พนักงานเสริฟ แรงงานด้านการผลิต แม่บ้าน พนักงานต้อนรับ และพนักงานบัญชี ตามลำดับ สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีการเบิกจ่างเพิ่มขึ้นทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน การค้าระหว่างประเทศมีดุลการค้าเกินดุลอย่างต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น