วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สรจ.กระบี่ - โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกระบี่

     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริจัดตั้ง "โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็ก" ณ สหกรณ์นิคมอ่าวลึก เพื่อทำการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน
     และในพื้นที่อำเภอเขาพนม มีการจัดตั้ง "โครงการอ่างเก็บน้ำบางกำปรัด" เพื่อจัดหาแหล่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพราะปลูกของตำบลสินปุน
     โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเขียว ณ บ้านห้วยยาง อำเภอคลองท่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษา เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ตำบลคลองท่อมใต้ และค่ายทหาร ร.๑๕ พัน ๑
     ในพื้นที่สหกรณ์นิคมบ้านปากน้ำ อำเภอปลายพระยา เป็นพื้นที่ที่มีการทำนามาก่อนแต่เนื่องจากฝนทิ้งช่วง กลุ่มสมาชิกนิคมสหกรณ์จึงได้เลิกร้างไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้เกษตรกรทำนาเพื่อปลูกข้าวบริโภคกันเองในกลุ่มสมาชิก และจัดให้มีโรงสีข้าวขนาดเล็กด้วย เพื่อ "การปลูกข้าวสำหรับการบริโภคแบบครบวงจร"
     นอกจากนี้ยังมีโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหยา ณ บ้านปากหยา อำเภอปลายพระยา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ ดร.ผาสุข กุลละวณิชย์ และคณะส่งเสริมให้ราษฎรทำนาข้าว เพื่อการบริโภคแบบครบวงจร และให้กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ ๑๑ จัดหาแหล่งน้ำและส่งน้ำให้ราษฎรดังกล่าว


     "โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเล" ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ที่ดินในจังหวัดกระบี่มีราคาสูงขึ้นมาก ทำให้ราษฎรในท้องที่และนายทุนต่างถิ่นต้องการครอบครองพื้นที่ป่าแห่งนี้จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งของราษฎร ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ จังหวัดกระบี่ ได้นำกราบเรียนราชเลขานุการในองค์สมเด็จพระเจ้านางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อนำกราบบังคมทูลทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท นำป่าทุ่งทะเลเนื้อที่ประมาณ ๔,๒๐๐ ไร่ ขึ้นน้อมเกล้าฯ เป็นสถานที่ฝึกศิลปาชีพ และหรือสงวนไว้เพื่อประชาชนใช้ร่วมกันตามพระราชอัธยาศัย ในวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๗ จังหวัดกระบี่ได้รับแจ้งจากสำนักราชเลขาธิการว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้และจะทรงจัดตั้งโครงการพระราชดำริเพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศวิทยาของป่าทุ่งทะเล และมีพระราชดำริเพื่อเติมให้มีการดำเนินการ เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ พระองค์มีพระราชเสาวนีย์เพิ่มเติ่มให้จัดตั้งโครงการศิลปาชีพทุ่งทะเล เพื่อพัฒนาทักษะและส่งเสริมอาชีพด้านการทอผ้า (กี่กระทบ) ของราษฎรในพื้นที่โครงการฯ ป่าทุ่งทะเล เป็นการยกระดับรายได้ของประชาชนให้พออยู่พอกิน สามารถพึ่งตนเองได้ โดยเน้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์เพิ่มเติมให้จัดทำ "โครงการเลี้ยงปลาเก๋า ปลากะพงขาวในกระชัง" เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
     นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พันธ์ปู ป่าทุ่งทะเล เพื่อผลิตและปล่อยพันธุ์ปูในแหล่งน้ำธรรมชาติ อนุรักษ์ป่าชายเลนและทรัพยากรปู ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปู

     จังหวัดกระบี่ได้เสนอโครงการอนุรักษ์พันธ์กล้วยไม้รองเท้านารี เพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกทำลายป่า และเป็นการอนุรักษ์กล้วไม้พันธุ์รองเท้านารีให้อยู่คู่จังหวัดกระบี่ต่อไป โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ซึ่งมีพื้นที่ดำเนินการโครงการ คือ บริเวณเรือนรับรองที่ประทับแหลมหางนาค และหน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธิน ๔๔๑
     และเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๓ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านบางสร้าน ตำบลหน้าเขา อำเภอเขาพนม ได้มีพระราชดำริกับนายวิศาล  ไมตรียืนยง วิศวกรใหญ่ฯ กรมชลประทาน ให้พิจารณาแนวทางช่วยเหลือราษฎรตำบลหน้าเขาและตำบลข้างเคียงที่เดือดร้อนเกี่ยวกับน้ำเพื่ออุปโภค - บริโภค จึงมีการจัดทำ โครงการฝายห้วยน้ำแก้ว ขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือราษฎร

     สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำ "โครงการอนุรักษ์พันธูกรรมพืช" ณ ตำบลเขาคราม เพื่อปลูกพิชที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระราชดำริให้จัดตั้ง "โครงการศึกษาความต้องการการใช้น้ำมันไบโอดีเซลเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซลของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดกระบี่" ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานพระราชดำริให้นำไบโอดีเซลมาใช้ประโยชน์ได้จริง




ที่มา  รายงานประจำปี ๒๕๕๔ จังหวัดกระบี่
โดย  เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ข้อมูลแรงงาน
สำนักงานแรงงานจังหวัดกระบี่

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ23 ธันวาคม 2554 เวลา 01:54

    ชาวจังหวัดกระบี่ ได้รับโครงการพระราชดำริจากทั้งสองพระองค์มากมาย

    ตอบลบ