วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554

สำนักงานแรงงานจังหวัดกระบี่ โดย ก.แรงงาน ลงพื้นที่เมืองเอกขจัดขยะ ประกาศเกียรติผู้ประกอบการที่ส่งเสริมจ้างงานแม้ประสบน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2554  นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมผู้บริหารกระทรวงร่วมกับทุกภาคส่วนในจังหวัดปทุมธานี ลงพื้นที่ที่หมู่บ้านเมืองเอก ตำบลหลักหก จังหวัดปทุมธานี โดยการจัดงานขึ้น ณ บริเวณมหาวิทยาลัยรังสิต






               ในงานมีการมอบมอบเกียรติบัตรให้สถานประกอบกิจการที่ให้การดูแลลูกจ้างซึ่งมีการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายและสวัสดิการอื่นอย่างครบถ้วนในช่วงที่ประสบวิกฤตมหาอุทกภัย สมเป็นตัวอย่างที่ดี จำนวน 10 แห่ง มอบเงินช่วยเหลือลูกจ้างตามโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง จำนวน 13 ราย และมอบอุปกรณ์ “คลีนอัพ” เพื่อทำความสะอาดบ้านเรือนแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมปล่อยคาราวานคลีนอัพเพื่อระดมทำความสะอาด เก็บขยะเพื่อให้ชุมชน ซึ่งเฉพาะในพื้นที่เมืองเอกมีมากกว่า 5,000 ตัน ซึ่งรัฐมนตรีจะจัดการจนกว่าขยะจะหมดไปเพื่อให้พื้นที่โดยรอบกลับสู่ภาวะปกติ สะอาด สวยงามอีกครั้งหนึ่ง ตามโครงการ “รัฐบาลรวมใจ พลิกวิกฤต ฟื้นชีวิตสู่การทำงาน คลีนอัพขยะเพื่อชุมชน” ทั้งนี้ตามแนวทางที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ไว้เพื่อกำหนดมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะฟื้นฟู โดยให้สภาพบ้านเมืองโดยรวมกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว
                นายเผดิมชัย กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้แต่ละหน่วยงานช่วยแก้ไขปัญหาขยะในชุมชนอันเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากมหาอุทกภัยที่ผ่านมาให้แล้วเสร็จก่อนปีใหม่ เพื่อคืนความสุขแก่ประชาชน ในครั้งนี้กระทรวงแรงงานจึงร่วมกับจังหวัดปทุมธานี เทศบาลตำบลหลักหก ชุมชนหมู่บ้านเมืองเอก มหาวิทยาลัยรังสิต ภาคเอกชน และประชาชนใกล้เคียง กว่า 3,000 คน โดยมีกิจกรรมทำความสะอาดและกำจัดขยะในบริเวณหมู่บ้านเมืองเอกและรอบๆ รวมถึงบริการของส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน หน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมออกให้บริการด้วย โดยการส่งรถมาเก็บขยะ และกระทรวงแรงงานมีแนวทางทำงานโดยรวมเรียกว่า  3  อาร์ (rescue  restore  และ rebuild) คือเมื่อมีภัยต่างๆ มาก็มีความพร้อมรับแจ้งและช่วยเหลือ จากนั้นเป็นการฟื้นฟูบูรณะซ่อมแซมสิ่งที่เสียหายทั้งสถานที่และบุคคล สุดท้ายคือการสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยภาพรวม
               นอกจากปัญหาเรื่องขยะแล้ว ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานได้มีโครงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลายประการ เช่น กิจกรรมจ้างงานเร่งด่วน ขุดลอกคูคลองเพื่อเปิดทางระบายน้ำ และทำแนวกั้นน้ำในพื้นที่ กิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ 120 บาท พร้อมวัสดุฝึก  โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยลูกจ้างที่ประสบอุทกภัยไปทำงานกับสถานประกอบกิจการแห่งอื่นเป็นการชั่วคราว โครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง โดยรัฐสมทบจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างผ่านสถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการเพื่อรักษาสภาพการจ้าง รายละ 2,000 บาท  ซึ่งนายจ้างที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่เลิกจ้างและจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างที่เคยจ่าย โดยที่ปทุมธานีมีสถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 230 แห่ง ลูกจ้างประมาณ 120,000 คน และผ่านการพิจารณาแล้วจำนวน 127 แห่ง เป็นเงินที่รัฐสมทบจ่ายให้ทั้งสิ้นประมาณ 180 ล้านบาท และคงต้องขอใช้งบประมาณในระยะต่อไปเพื่อมาสนับสนุนโครงการดังกล่าว  สำหรับโครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนประสบอุทกภัย โดยให้ผู้ประกอบกิจการและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมกู้เงินเพื่อใช้ฟื้นฟูกิจการหรือซ่อมแซมบ้านเรือน และโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน
              ด้านนางวัชชิราพร นาคครุฑ อายุ 37 ปี ชาวจังหวัดปทุมธานี คนงานบริษัทไลท์ออน ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เจ้าของบริษัทเป็นชาวไต้หวัน เปิดเผยว่า ตนทำงานกับบริษัทมากว่า 17 ปี จนได้เลื่อนเป็นผู้ควบคุมไลน์การผลิต เมื่อทุกคนในบริษัทประสบภาวะน้ำท่วม ต้องหยุดงานกว่า 3 เดือน แต่ทางบริษัทก็ไม่เลิกจ้าง เพียงแต่จ่ายค่าจ้างให้ร้อยละ 75 ต่อเดือน แก่พนักงานทุกคน ซึ่งก็พออยู่ได้เพราะบ้านของตนไม่ถูกน้ำท่วม ประกอบกับที่ทำงานของสามีไม่ถูกน้ำท่วม  และมีบุตร 1 คน อายุ 3 ขวบ จึงไม่มีภาระสูงเท่าเพื่อนๆ พนักงานบางราย ที่น้ำท่วมบ้าน และยังขาดรายได้จากการทำงานล่วงเวลาอีกประมาณสัปดาห์ละ 2,000 บาทต่อคน แต่ก็เข้าใจในสภาพของบริษัท เมื่อน้ำเริ่มลดทางบริษัทก็เริ่มติดต่อเรียกพนักงานกลับเข้าทำงานแล้ว ไม่มีการเลิกจ้างแต่อย่างใด และวันนี้ทางบริษัทของตนก็มารับใบประกาศเกียรติคุณนี้อีกด้วย
               นายฐานะ ถิรมนัส ผู้จัดการทรัพยากรบุคคล บริษัทพานาโซนิค จำกัด อายุ 49 ปี กล่าวว่า ได้ทำงานกับบริษัทฯ มากว่า 20 ปี แล้ว ดูแลพนักงานมาโดยตลอด ในฐานะที่อยู่ระหว่างผู้บริหารกับพนักงานก็มีความเห็นใจทุกฝ่าย ซึ่งในช่วงน้ำท่วมบริษัทไม่เคยทอดทิ้งพนักงาน ยังคงจ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 กว่า 3 เดือน จนขณะนี้น้ำลดก็เริ่มเรียกพนักงานด้านเทคนิคเข้ามาตรวจสอบเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือก่อน จากนั้นก็จะเริ่มทยอยเรียกพนักงานในสายการผลิตต่างๆ เข้ามา ส่วนเรื่องค่าจ้างวันละ 300 บาท ตนเห็นว่าต้องเห็นใจนายจ้าง ต้องค่อยเป็นค่อยไป คิดว่าระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะขึ้นถึงวันละ 300 บาท ควรอยู่ที่ประมาณ 2 ปี และดีใจกับพนักงานหากจะได้รับค่าจ้างตามนี้

แรงงานไทย  “ต้นทาง-ต้นทุน”  เศรษฐกิจไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น